Wednesday, May 6, 2009

มารู้จัก วัคซีน สำหรับเด็ก กันเถอะ


ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับวัคซีน
1. ควรดูแลติดตามให้ลูกได้รับวัคซีนตามกำหนด เนื่องจากวัคซีนมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคได้เป็นอย่างดี การที่ลูกได้รับวัคซีนตามกำหนดเป็นการมั่นใจได้ว่าลูกจะปลอดภัยจากโรคที่สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน


2. ตารางการให้วัคซีนตามกำหนดอายุ นั้นเป็นการกำหนดช่วงเวลาที่เหมาะสมต่อการให้วัคซีน นั้นๆ ซึ่งคำนึงถึงโอกาสของการได้รับเชื้อ ความร้ายแรง และความชุกของโรค รวมทั้งความสามารถของร่างกายเด็กที่จะสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี จากการฉีดวัคซีน และภูมิคุ้มกันที่ลูกได้รับติดตัวมาจากแม่ในตอนแรกเกิด คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกไปรับวัคซีนตามกำหนด

แต่ในกรณีที่ลูกไม่สบาย หรือ คุณพ่อคุณแม่ติดธุระจำเป็นไม่สามารถไปได้ตามนัด ก็สามารถเลื่อนเวลาการรับวัคซีนออกไปได้ โดยไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นนับเข็มที่ 1 กันใหม่

โดยหลักการแล้ว การให้วัคซีนแต่ละครั้งสามารถให้เลื่อนเวลาออกไปได้บ้าง และการได้รับวัคซีนช้ากว่ากำหนดบ้าง ไม่ได้ทำให้ภูมิคุ้มกันต่อวัคซีนลดลงอย่างมาก จึงควรถือคติว่า ควรไปรับวัคซีนตามกำหนด แต่ถ้าไปช้ากว่ากำหนดก็ยังดีกว่าการไม่ไปรับวัคซีนเลย เพราะเด็กที่ไม่ได้รับวัคซีนเลยนั้น จะไม่มีภูมิคุ้มกันต่อโรค ทำให้อาจป่วยเป็นโรคต่างๆ ได้ เช่น เป็นโปลิโอ หรือ ป่วยเป็น ไอกรน ซึ่งอาจทำให้พิการ หรือเจ็บป่วยหนักได้ ทั้งๆที่โรคเหล่านี้สามารถป้องกันได้ ด้วยวัคซีนที่มีอยู่

3. ในกรณีที่ลูกไม่สบายเล็กน้อย เช่น มีน้ำมูกใสๆ หรือ ไอนิดหน่อย ไม่ได้มีไข้ หรือป่วยมาก หรือว่าถ่ายเหลวนิดหน่อย แต่ไม่ใช่ท้องเสีย ภาวะเช่นนี้สามารถให้วัคซีนตามกำหนดอายุได้ โดยไม่จำเป็นต้องรอจนหายสนิท
แต่ถ้าลูกมีอาการป่วยจริง เช่น มีไข้ มีผื่นตามตัวค่อนข้างมากไม่แน่ใจว่าแพ้อะไร หรือหวัด ไอจัด ก็ให้เลื่อนการฉีดวัคซีนไปก่อน 1-2 สัปดาห์ จนกว่าอาการป่วยนั้นจะหายดี แล้วจึงพาลูกไปรับวัคซีนตามกำหนด

4. ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากวัคซีน นั้น แม้ว่าจะมีการพูดถึงกันบ้าง แต่โดยทั่วไปนั้นเกิดขึ้นน้อยมาก และส่วนใหญ่ไม่ได้มีความร้ายแรงอะไรนัก โอกาสที่จะเกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายนั้นอาจจะเป็น 1 ใน หลายแสน หรือ 1 ในหลายล้านครั้ง ของการให้วัคซีน แต่เมื่อเทียบกับโอกาสที่จะติดเชื้อร้ายแรง ที่จะทำให้ลูกพิการ หรือเจ็บป่วยหนัก (ในบางรายเสียชีวิต)นั้น อันตรายจากการติดเชื้อโรค และเกิดผลแทรกซ้อนจากโรคที่เป็นเป็นนั้น มีมากกว่าอันตรายจากการได้รับวัคซีนมาก
จึงอยากให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจถึงประโยชน์ที่ได้จากการให้วัคซีน และเข้าใจถึงความเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อโรคร้าย ถ้าลูกไม่ได้รับวัคซีนว่าการให้วัคซีนนั้นปลอดภัยกว่า และคุ้มค่ากว่าการที่จะเสี่ยงให้ลูกเจ็บป่วยเองด้วยโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน

5. การผลิตวัคซีนต่างๆที่มีใช้กันอยู่ทุกวันนี้มีมาตรฐานและการตรวจสอบ ติดตามคุณภาพ และความปลอดภัยอย่างเข้มงวดมาก โดยเกียรติภูมิและชื่อเสียงของบริษัทผู้ผลิตวัคซีนเอง และโดยองค์การอนามัยโลก และ ยูนิเซฟ ที่มุ่งมั่นที่จะทำให้ประชากรของโลกมีสุขภาพที่ดี มีการป้องกันโรคที่มีประสิทธิภาพ โดยการให้วัคซีน ซึ่งทุกประเทศทั่วโลกจะให้ความร่วมมือในการนี้โดยไม่มีการแบ่งแยกเชื้อชาติหรือฐานะของประเทศ

6. ปัจจุบันมีวัคซีนเสริมพิเศษ ที่มากกว่าที่ทางกระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดไว้ ซึ่งเป็นวัคซีนที่ดี และมีประสิทธิภาพสูง มีการใช้กันในหลายๆประเทศทั่วโลกเช่นกัน ซึ่งจะครอบคลุมโรคต่างได้มากขึ้น ซึ่งบางโรคอาจไม่ได้เป็นปัญหาที่สำคัญมากในเชิงสาธารณสุขของประเทศไทย วัคซีนเหล่านี้มักจะมีราคาสูง แต่สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่สนใจที่จะให้ลูก(หรือตนเอง) ได้รับวัคซีนเหล่านี้ ก็สามารถทำได้ และจะสามารถป้องกันการเจ็บป่วยจากโรคนั้นๆ ได้ ซึ่งวัคซีนเหล่านี้ได้แก่

6.1.วัคซีนป้องกันเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ฮิบ ซึ่งจะให้ในเด็กอายุน้อย และสามารถให้รวมกับวัคซีน คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก ได้ ตอนอายุ 2 , 4 , 6 เดือน

6.2.วัคซีนป้องกัน คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก ชนิดพิเศษ ที่เรียกว่า เป็นวัคซีนไอกรนแบบพิเศษ (ในวัคซีนนี้จะไม่ได้มีส่วนประกอบของเซลล์ทั้งเซลล์ของเชื้อไอกรน , acellular Pertussis vaccine) ซึ่งทำให้มีผลข้างเคียงเรื่อง ไข้ อาการร้องกวน หรือชักน้อยลง เมื่อเทียบกับวัคซีนคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก แบบธรรมดา

6.3.ในปัจจุบันจะมีการนำวัคซีนหลายชนิดมารวมกันไว้ในเข็มเดียวกัน เพื่อให้เกิดความสะดวก และทำให้เด็กเจ็บตัวน้อยลง (ลดจำนวนเข็มที่ต้องฉีดลง) และทำให้ค่าใช้จ่ายในการให้วัคซีนถูกลง กว่าการฉีดแยกอย่างละเข็ม รวมทั้งทำให้คุณพ่อคุณแม่สามารถมั่นใจได้ว่าลูกได้รับวัคซีนครบถ้วนตามกำหนด โดยไม่ต้องเสียเวลาพาลูกไปพบแพทย์บ่อยๆ (ลดจำนวนครั้งของการไปพบแพทย์เพื่อการฉีดวัคซีน) ซึ่งในประเทศไทยขณะนี้ มีวัคซีนรวมพิเศษเหล่านี้มาให้เลือกใช้ หลายแบบ ได้แก่ วัคซีนรวม คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก และตับอักเสบ บี ( 4 โรค), วัคซีนรวม คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก ฮิบ และตับอักเสบ บี (5 โรค), วัคซีนรวม คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก และ โปลิโอชนิดฉีด ( 4 โรค), วัคซีนรวม คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก และ ฮิบ (4 โรค), วัคซีนรวม คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก ฮิบ และ โปลิโอชนิดฉีด (5 โรค), วัคซีน คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก ฮิบ โปลิโอ และตับอักเสบบี ( 6 โรค), โดยมีทั้งแบบที่เป็นวัคซีนไอกรนแบบพิเศษ (Acellular pertussis) ที่รวมกับวัคซีนอื่นๆ ให้เลือกใช้ด้วย

คุณพ่อคุณแม่สามารถสอบถามเพิ่มเติมในรายละเอียดจากแพทย์ผู้ดูแลเรื่องวัคซีนของลูกได้
โดยทั่วไป แม้ว่าในทางทฤษฎี จะแนะนำว่า การให้วัคซีนนั้นสามารถสลับชนิด(หรือยี่ห้อ)กันได้ โดยไม่มีปัญหาและไม่ทำให้ภูมิต้านทานที่ได้จากวัคซีนลดลงแต่อย่างใด แต่ในทางปฎิบัติแล้ว แพทย์มักจะให้วัคซีนชนิด (ยี่ห้อ) เดียวกัน ในการฉีดครั้งต่อๆ ไปนอกจากพบว่ามีปฎิกริยาข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์ จากการให้วัคซีนในครั้งก่อน ทำให้ต้องพิจารณาเปลี่ยนชนิดของวัคซีน ในการฉีดครั้งต่อไป หรือในกรณีที่ไม่ทราบว่าเดิมทำวัคซีนชนิดไหนมาก่อน (หรือวัคซีนขาดแคลน ในช่วงนั้น) ทำให้ต้องใช้วัคซีนที่มีอยู่แทน ซึ่งในกรณีเช่นนี้ ก็สามารถใช้วัคซีนชนิด (ยี่ห้อ) อื่นทดแทนได้

นพ.ประสงค์ พฤกษานานนท์
คลินิกเด็ก.คอม

No comments: